fbpx

ไทยเป้าหมายแหล่งทุ่มตลาดเหล็กเคลือบ จากจีน

ไทยเป้าหมายแหล่งทุ่มตลาดเหล็กเคลือบ จากจีน

     ข้อมูลจาก สำนักงานสถิติแห่งชาติของประเทศจีน และสมาคมเหล็กและเหล็กกล้าของโลก รายงานตรงกันว่า ช่วง 5 เดือนแรกของปี 2563 ผลผลิตเหล็กของจีนไม่ได้ลดลงจากปีที่แล้วเลยแม้แต่น้อย

     รายงานการผลิตเหล็กดิบ (Crude steel) ซึ่งเป็นวัตถุดิบกึ่งสำเร็จรูปตั้งต้นสำหรับการผลิตสินค้าเหล็กทุกประเภท ช่วงเดือน ม.ค. – เม.ย. 2563 จีนมีการผลิตเพิ่มขึ้น +1.3% ปริมาณ 319 ล้านตัน   และที่น่าตกใจยิ่งกว่า คือ จีนเพิ่งเปิดเผยตัวเลขการผลิตในเดือน พ.ค. 2563 โดยปริมาณผลผลิตเท่ากับ 92 ล้านตัน นอกจากจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงมาก คือ +4.2% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ค. ปี 62 และ +8.5% เทียบกับเดือน เม.ย. 2563 ยังทำให้การผลิตเดือนนี้ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์  

     นอกจากนี้ในทางตรงกันข้าม ข้อมูลการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมต่อเนื่องทุกประเภทที่ใช้เหล็กเป็นวัตถุดิบ ตามรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติของประเทศจีน แสดงให้เห็นการหดตัวอย่างรุนแรงในทุกกลุ่มไล่ตั้งแต่ ภาคการผลิตอุตสาหกรรม หดตัวรุนแรง ในช่วง -3.1% ถึง -32.1%  ขณะที่การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร & การก่อสร้าง หดตัวรุนแรง ในช่วง -6.3% ถึง -15.9% บางกลุ่มอาจมีสัญญาณการฟื้นตัวอย่างเช่น การผลิตรถยนต์ (Car) ที่กลับมาขยายตัว +27% ในเดือนพ.ค. แต่มีอีกหลายกลุ่มยังไม่มีสัญญาณของการฟื้นตัวเลย เช่น การผลิตเครื่องชักผ้าและเครื่องปรับอากาศที่ในเดือน พ.ค. 2563 ยังหดตัว -8.2% และ -14.7%

     ดังนั้น ในสภาวะที่ความต้องการใช้เหล็กของกลุ่มอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เป็นผู้บริโภคเหล็กหดตัวรุนแรงระหว่าง -3.1% ถึง -32.1% แต่ปริมาณการผลิตของผู้ผลิตเหล็กในจีนกลับไม่ลดลงแต่อย่างใด จึงเป็นสภาวะการณ์ที่ผิดปกติ และเป็นความเสี่ยงอย่างมากของอุตสาหกรรมเหล็กประเทศต่างๆ ในโลกรวมถึงประเทศไทยด้วย

     จากฐานข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ ยืนยันได้อีกว่า จีนมุ่งส่งออกเหล็กแผ่นเคลือบมายังประเทศไทยเป็นหลัก โดยส่งออกเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2558 และเพิ่มต่อเนื่องทุกปี ขึ้นมาสูงสุดในปี 2562 ที่จำนวน 1.88 ล้านตัน หรือ+123% ในระยะเวลา 4 ปี ยิ่งไปกว่านั้น สำหรับเดือน ม.ค. – เม.ย. 2563 มีการส่งออก 0.82 ล้านตัน เพิ่มขึ้นมากถึง+63% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562และคาดว่าในเดือนพ.ค.นี้จะเพิ่มเป็นทะลุ  1 ล้านตัน

     เคยมีการประเมินไว้ว่าในเดือน มีค. 2563 สต็อกเหล็กทุกประเภทของจีนแตะระดับ 100 ล้านตัน + 203% เมื่อเทียบกับปี 2562 ขณะที่ สถิติการนำเข้าของไทยในเดือน เม.ย. 2563 พบถึงความผิดปกติของการนำเข้าจากจีน โดยการนำเข้าสินค้าเหล็กแผ่นเคลือบอะลูมิเนียมผสมสังกะสีทาสี (PPGL) ของประเทศไทยในเดือน เม.ย. 2563 รวมทั้งสิ้น 63,188.62 ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือน มี.ค. 63 +62.3% ประเทศหลักที่ผลกระทบต่อความผิดปกติคือ การนำเข้าจากประเทศจีน 

     การนำเข้า PPGL จากจีนมีปริมาณ 55,106.08 ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือน มี.ค. 63 +79.8% และเป็นระดับการนำเข้าที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ของไทย ทำให้สัดส่วนการนำเข้าจากจีนเท่ากับ 87.21% เมื่อเทียบกับการนำเข้าจากทุกประเทศ ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นทุกปีจาก 75.47% ในเดือน เม.ย. 2561 และ 82.78% ในเดือน เม.ย. 2562 และถือว่าเป็นสัดส่วนการนำเข้าจากประเทศจีนที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ของไทย

     นอกจากสินค้า PPGL ยังมีกรณีการนำเข้าเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีแบบจุ่มร้อน (GI) ของไทยจากประเทศจีนที่มีความผิดปกติในรูปแบบเดียวกัน โดยเดือน เม.ย. 2563 มีการนำเข้าจากจีนมากถึง 173,156 ตันทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกันของสินค้าประเภทนี้

     จากการนำเข้าของเหล็ก PPGL ที่เพิ่มทะยานขึ้นอย่างผิดปกติ ในเดือน เม.ย. 63 และเป็นลักษณะเดียวกันกับเหล็ก GI ซึ่งทั้ง 2 สินค้าอยู่ระหว่างการไต่สวนมาตรการ AD แสดงให้เห็นว่าผู้ผลิตเหล็กจีนมีพฤติการณ์อาศัยตลาดภายในประเทศไทย มาทำการผลิตสินค้าภายในประเทศจีนเองให้มีปริมาณสูงอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดต้นทุนให้ต่ำลง สวนทางกับภาวะตลาดความต้องการใช้เหล็กของจีนที่หดตัวรุนแรงและยังไม่ฟื้นตัว และทำการส่งออกกลับมาประเทศไทยด้วยปริมาณสูงผิดปกติ ซึ่งเป็นพฤติการณ์ของการทุ่มตลาดอย่างชัดเจน และส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตในประเทศอย่างมาก

ที่มา thansettakij.com

ไทยเป้าหมายแหล่งทุ่มตลาดเหล็กเคลือบ จากจีน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Scroll to top

Pin It on Pinterest