fbpx

“กนอ.” ดัน “Smart Eco” พัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

“กนอ.” ดัน “Smart Eco” พัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

     การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ “กนอ.” ดำเนินการต่อยอดการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยวางกรอบแนวทางการเป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอัจฉริยะ “Smart Eco” ให้นิคมอุตสาหกรรม/ท่าเรืออุตสาหกรรม และโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม ชู 8 หลักเกณฑ์การรับรองการเป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอัจฉริยะ “Smart Eco” โดยปี 62 มีนิคมอุตสาหกรรม/ท่าเรืออุตสาหกรรม ที่ผ่านการรับรองแล้ว 5 แห่ง และโรงงานอุตสาหกรรม 7 แห่ง

     นางสาวสมจิณณ์  พิลึก  ผู้ว่าการ กนอ. เปิดเผยว่า กนอ.มุ่งมั่นที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำของภูมิภาคด้านการบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรม จึงได้นำนโยบาย“Thailand 4.0 และ Industry 4.0” มาพัฒนาต่อยอดการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยการประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงในภาคอุตสาหกรรม เพื่อสร้างให้เกิดความร่วมมือพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน สร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกัน และสร้างความสมดุลระหว่างปัจจัยด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development : SD)  โดย กนอ.ได้จัดทำหลักเกณฑ์นิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอัจฉริยะ “Smart Eco” เพื่อยกระดับนิคมอุตสาหกรรม ท่าเรืออุตสาหกรรม และโรงงานอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมของ กนอ. 

     “คำนิยาม Smart Eco คือ การบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรม ท่าเรืออุตสาหกรรม และโรงงาน โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการปรับปรุงระบบบริหารจัดการ หรือกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอย่างมีนวัตกรรมตลอดห่วงโซ่คุณค่าอย่างยั่งยืน ให้มีความปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” ผู้ว่าการ กนอ. กล่าว

     สำหรับนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรืออุตสาหกรรม ที่จะขอรับรองการเป็น Smart Eco ต้องผ่านหลักเกณฑ์ คือ ได้รับการรับรองให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในระดับ Eco-Champion แล้ว ในขณะที่โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมที่จะขอรับรองการเป็น Smart Eco จะต้องมีการดำเนินงานให้เป็นไปตามมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม พลังงาน ความปลอดภัย อย่างน้อยด้านใดด้านหนึ่ง

     อย่างไรก็ดี การขอเป็น Smart Eco นิคมอุตสาหกรรม ท่าเรืออุตสาหกรรมและโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม จะต้องมีการดำเนินงานให้สอดคล้องตามเกณฑ์ Smart Environment Surveillance (ระบบเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยอัจฉริยะ) 1 ด้าน และในด้านอื่นๆ อีก 1 ด้าน เช่นเดียวกัน

     ผู้ว่าการ กนอ.  กล่าวอีกว่า การเป็น Smart Eco เป็นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในการตรวจติดตามคุณภาพสิ่งแวดล้อม การปล่อยมลพิษ การกำกับดูแลและบริหารจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การจัดการด้านความปลอดภัย รวมทั้งจัดการระบบขนส่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ 

1. Smart Environment Surveillance (ระบบเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยอัจฉริยะ) เพื่อเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมและการปล่อยมลพิษได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. Smart Water (ระบบการจัดการน้ำอัจฉริยะ) ที่มุ่งไปที่การจัดการน้ำและน้ำเสียอย่างมีประสิทธิภาพ
3. Smart Energy (ระบบการจัดการพลังงานอัจฉริยะ) เพื่อการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
4. Smart Waste ระบบการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วอัจฉริยะ เพื่อกำกับดูแลและบริหารจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วอย่างมีประสิทธิภาพ
5. Smart Safety/Emergency (ระบบป้องกันด้านความปลอดภัยอัจฉริยะ) เพื่อการจัดการด้านความปลอดภัยที่อาจส่งผลกระทบต่อพนักงานและบุคคลที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ
6. Smart Logistic (ระบบขนส่งอัจฉริยะ) เพื่อการจัดการระบบขนส่งอย่างมีประสิทธิภาพ
7. Smart IT (ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศอัจฉริยะ) เพื่อพัฒนาระบบฐานข้อมูลและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ
8. Smart Building (อาคารอัจฉริยะ) เพื่อการปรับปรุงและออกแบบอาคารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สำหรับนิคมอุตสาหกรรม/ท่าเรืออุตสาหกรรม และ Smart Resource/Process (กระบวนการผลิตอัจฉริยะ) เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรและพัฒนากระบวนการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ กรณีโรงงานอุตสาหกรรม

     สำหรับผลการตรวจประเมินในปี 62 มีนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรืออุตสาหกรรม ได้รับการรับรองการเป็น Smart Eco แล้ว จำนวน 5 แห่ง ประกอบด้วย 

1. นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จ.ลำพูน ในด้าน Smart Waste
2. นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ในด้าน Smart Safety/Emergency
3. ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ในด้าน Smart Safety/Emergency
4. นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ.ชลบุรี ในด้าน Smart Water
5. นิคมอุตสาหกรรมอาร์ ไอ แอล จ.ระยอง ในด้าน Smart Energy

     ส่วนโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมที่ผ่านเกณฑ์การตรวจประเมินและได้รับการรับรองให้เป็น Smart Eco แล้ว จำนวน 7 แห่ง ประกอบด้วย

1.บริษัท มูราตะ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (Smart Logistic) ในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ
2.บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล สาขา 3 จำกัด (มหาชน) (Smart Safety/Emergency) ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด
3.บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด(Smart Safety/Emergency) ในท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด
4.บริษัท เอ็กเซดดี้ ฟริคชั่น แมททีเรียล จำกัด (Smart Process) ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี
5.บริษัท มาบตาพุด โอเลฟินส์ จำกัด (Smart IT) ในนิคมอุตสาหกรรมอาร์ไอแอล
6.บริษัท ไทยฮอนด้า แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด (Smart Water) ในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง
7.บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (Smart Energy) ในนิคมอุตสาหกรรมบางปู

     ทั้งนี้ “กนอ. ได้นำนโยบายรัฐบาล Thailand 4.0 และ Industry 4.0 มาใช้เป็นแนวทางการพัฒนาต่อยอดการเป็นอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเพื่อเข้าสู่การเป็น Industry 4.0 เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาลThailand 4.0 โดยการพัฒนาหลักเกณฑ์ Smart Eco รวมถึงการกำหนดมาตรการจูงใจเพื่อสนับสนุนให้นิคมอุตสาหกรรม/ท่าเรืออุตสาหกรรม และโรงงานอุตสาหกรรมในนิคมฯ นำไปประยุกต์ใช้เพื่อรองรับอุตสาหกรรมที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง” ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวสรุป

ที่มา : thansettakij.com

“กนอ.” ดัน “Smart Eco” พัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Scroll to top

Pin It on Pinterest